กำเนิด สภาการศึกษาแห่งชาติ
 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในปัจจุบันมีจุดกำเนิดมาจากสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ซึ่งจัดตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๔๙๙ เนื่องจากขณะนั้นมีมหาวิทยาลัยอยู่ต่างสังกัดกัน ๕ แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นอิสระ มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นโรงเรียนศิลปากรและกำลังจะเป็นมหาวิทยาลัยอยู่ในกรมศิลปากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ คือ โรงพยาบาลศิริราช สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
         
เพื่อที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยให้เข้มแข็งและมีเสถียรภาพสูง เซอร์ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ปรึกษายูเนสโกขณะนั้นเสนอแนะว่า ต้องนำมารวมกันเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ จึงมีการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่รัฐมนตรีบางท่านไม่เห็นด้วย จึงจัดตั้งเป็น สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บัญชาการมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัยศิลปากร และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง กับกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิอีก ๑๒ คน และมีเลขาธิการสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง คือ ศาสตราจารย์ ดร.กำแหง  พลางกูร
         
สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติมีอำนาจและหน้าที่บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยต่างๆ และมีเลขาธิการสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการให้เป็นไปตามมติของสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ ควบคุมราชการอันเป็นงานธุรการของสภา บังคับบัญชาข้าราชการในสังกัดและรับผิดชอบในราชการของสภา ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีผู้บังคับบัญชาสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ
         
ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี พลเอกเนตร เขมะโยธิน ซึ่งเป็นนายทหารเสนาธิการมือหนึ่งของประเทศไทยและเป็นปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เสนอแนะว่าจะต้องมีฝ่ายเสนาธิการของประเทศไทยฝ่ายพลเรือน จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้จัดตั้ง สภาการศึกษาแห่งชาติขึ้น ทำหน้าที่กำหนดทิศทางของการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ โดยได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ ให้โอนกิจการและอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติมารวมไว้ในสภาการศึกษาแห่งชาติที่ตั้งขึ้นใหม่ จากนั้น ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ พ.ศ. ๒๔๙๙ พร้อมกับตราพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้มีสภาการศึกษาแห่งชาติ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีเป็นรองประธาน อธิการบดีหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่เรียกชื่ออย่างอื่นของมหาวิทยาลัยทุกแห่ง กับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และบุคคลอื่น ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ และเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ นอกจากนี้ ได้กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นที่ปรึกษาของสภาการศึกษาแห่งชาติ
         
หน้าที่สำคัญของสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้แก่ พิจารณาปรับปรุง วางแผนและโครงการการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาปัญหาทางการศึกษาและเสนอวิธีการแก้ไข พิจารณารายงานการศึกษา วางโครงการหาทุนบำรุงการศึกษา พิจารณางบประมาณของมหาวิทยาลัย การจัดตั้ง ยุบ รวม และเลิกล้มมหาวิทยาลัย รวมทั้งคณะหรือแผนกวิชา ตลอดจนให้ความเห็นชอบการวางหลักสูตรในมหาวิทยาลัย  ในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้กำหนดให้มีสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ และให้มีเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ทำหน้าที่ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามมติของสภาการศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ประกอบด้วย เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติและบุคคลอื่น ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกิน ๙ คน เป็นกรรมการและให้อยู่ในตำแหน่งคราวละ ๒ ปี
         
ในการเปิดประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติครั้งแรก เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๒ นั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานสภาการศึกษาแห่งชาติ ได้กล่าวปราศรัยที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการให้ความสำคัญกับการศึกษาของชาติและความคาดหวังที่จะให้สภาการศึกษาแห่งชาติทำหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างสรรค์คนในชาติไว้อย่างน่าสนใจดังข้อความตอนหนึ่งดังนี้
          “
เป็นความปิติยินดีอย่างสูงของข้าพเจ้าอีกวาระหนึ่ง ที่ได้เปิดประชุมสภาการศึกษาแห่งชาติ ภาพที่เราแลเห็นในการประชุมครั้งนี้ เป็นที่พิสูจน์อันแน่ชัดว่า ข้าพเจ้าให้ความสำคัญแก่การศึกษามากเพียงใด  ข้าพเจ้าได้จัดให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสภายิ่งใหญ่ ซึ่งถ้าลองนับจำนวนสมาชิกแห่งนี้ ก็จะได้พบประธาน รองประธาน และรัฐมนตรีเป็นที่ปรึกษารวม ๘ คน กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติสภาการศึกษาแห่งชาติ ๖๗ คน คณะกรรมการบริหาร ๙ คน รวมตัวเลขตามรายการ ๙๐ คน มีซ้ำกัน ๑ คน คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นทั้งที่ปรึกษาและประธานคณะกรรมการบริหาร จึงเป็นจำนวนที่แท้จริง ๘๙ คน มากกว่าสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติที่ตั้งมาแล้ว จึงต้องนับว่าสภาการศึกษาแห่งชาติเป็นสภาที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะมีความรับผิดชอบยิ่งใหญ่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ชนในชาติให้ดียิ่งขึ้นไป และความยิ่งใหญ่ของสภานี้  ไม่เฉพาะในปริมาณเท่านั้น ในทางคุณภาพก็ยิ่งใหญ่เช่นเดียวกัน เพราะสภาการศึกษาแห่งชาติประกอบด้วยผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ  ข้าพเจ้าลองนับดูวิทยฐานะของสมาชิกสภานี้ได้พบผู้สำเร็จการศึกษาถึงขึ้นดุษฎีบัณฑิตหรือดอกเตอร์ดีกรีถึง ๒๗ คน และขั้นมหาบัณฑิตหรือมาสเตอร์ดีกรี๑๙คนนับว่าตู้วิชาอันใหญ่หลวงของชาติได้ถูกยกเข้ามาวางอยู่ที่ประชุมนี้
         
ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติคนแรก คือ ศาสตราจารย์ ดร. กำแหง  พลางกูร ขณะนั้นสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติมีข้าราชการประมาณ ๑๐ คน โดยมีบุคคลสำคัญที่มาช่วยวางระบบบริหารคือ นายภุชงค์  เพ่งศรี จากสำนักงบประมาณมาปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ และนางจำรัสรัตน์ พิชัยชาญณรงค์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
          
ในระยะแรก สำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติใช้อาคารคณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ข้างโรงพยาบาลสงฆ์เป็นสถานที่ทำงาน จนกระทั่งย้ายมาอยู่อาคารใหม่ ซึ่งเป็นอาคาร ๑ ในปัจจุบัน โดยจอมพลถนอม  กิตติขจรนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีเปิดสำนักงานในปี๒๕๑๐
http://www.onec.go.th/index.php/page/category/CAT0001072

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

บทความเรื่องที่1